ข้อ 5 ที่ดินเพื่ออยู่อาศัย ต้องเสียภาษีเท่าไหร่
ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย หมายถึง ที่ดิน โรงเรือน อาคาร ตึก ห้องชุด หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นใดที่มีลักษณะให้บุคคลใช้เพื่อการอยู่อาศัย รัฐจะเก็บภาษีสูงสุด 0.30% ของมูลค่าทรัพย์สิน โดยผู้เป็นเจ้าของบ้านและที่ดินที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท จะได้รับการยกเว้นภาษี แต่ถ้าเป็นเพียงเจ้าของบ้านที่ไปปลูกในที่ดินของคนอื่นจะได้รับการยกเว้นในกรณีที่บ้านหลังนั้นมีมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท ทั้งนี้หากมีบ้านหลายหลังก็จะได้รับการยกเว้นภาษีเฉพาะบ้านหลังหลักเท่านั้น
การพิจารณาว่าบ้านหลังไหนเป็นบ้านหลังหลัก เจ้าหน้าที่จะดูจากการที่เรามีชื่ออยู่ในโฉนดและทะเบียนบ้าน ส่วนบ้านหลังไหนที่เรามีชื่ออยู่ในโฉนดเพียงอย่างเดียวจะถือว่าบ้านหลังนั้นเป็นบ้านหลังอื่น ๆ ซึ่งไม่ได้รับการยกเว้นภาษี โดยช่วง 2 ปีแรก คือปี 2563 – 2564 ที่อยู่อาศัยหลังอื่น ๆ จะต้องเสียภาษีในอัตรา 0.02 – 0.10% ขึ้นอยู่กับมูลค่าทรัพย์สิน และตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป จะเสียภาษีไม่เกิน 0.30%
ข้อ 6 ที่ดินเพื่อการใช้ประโยชน์อื่นๆ ต้องเสียภาษีเท่าไหร่
ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อการใช้ประโยชน์อื่น ๆ หมายถึง ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีการใช้ประโยชน์ด้านการพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม อาคารสำนักงาน โรงแรม ร้านอาหาร ฯลฯ โดยช่วง 2 ปีแรก คือปี 2563-2564 ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เพื่อประโยชน์อื่น ๆ จะต้องเสียภาษีในอัตรา 0.03 – 0.70% ขึ้นอยู่กับมูลค่าทรัพย์สิน และตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป จะเสียภาษีไม่เกิน 1.20%
ข้อ 7 ถ้าให้คนอื่นเช่าบ้าน – คอนโด เจ้าของต้องเสียภาษีในอัตราที่อยู่อาศัยหรือเพื่อการพาณิชย์
เดิมเรื่องการเช่าบ้านและคอนโดเป็นปัญหามากว่า เจ้าหน้าที่จะตีความเป็นการใช้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่ออยู่อาศัย หรือใช้ เพื่อการพาณิชย์ ซึ่งทั้ง 2 ประเภทนี้มีอัตราภาษีต่างกันค่อนข้างมาก แต่เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 มีประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย ออกมากำหนดแล้วว่า การใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อการอยู่อาศัยให้รวมถึงการเช่าที่มีการคิดค่าตอบแทนเป็นรายเดือนขึ้นไปหรือโฮมสเตย์ด้วย
ดังนั้น การให้เช่าบ้านและคอนโดเป็นรายเดือนหรือรายปี จะถือว่าบ้านและคอนโดนั้นเป็นการใช้เพื่ออยู่อาศัย เสียภาษีเริ่มต้นแค่ 0.02% แต่หากถ้าเป็นการให้เช่าเป็นรายวัน จะถือว่าเป็นการเช่าเพื่อการพาณิชย์ จะเสียภาษีเริ่มต้นในอัตรา 0.30%
โดยผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมาย คือ เจ้าของบ้านหรือคอนโดนั้น ส่วนคนที่มาเช่าอยู่ไม่ได้มีหน้าที่เสียภาษีแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติเจ้าของบ้านก็อาจจะผลักภาระให้ผู้เช่า โดยมาเรียกเก็บค่าภาษีหรือเพิ่มค่าเช่าอีกทีหนึ่ง
ข้อ 8 ที่ดินรกร้างว่างเปล่า ต้องเสียภาษีเท่าไหร่
ที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ หมายถึง ที่ดินว่างเปล่าที่ไม่ได้ทำประโยชน์ตามสมควรแก่สภาพ รัฐจะเก็บภาษีในช่วง 2 ปีแรก คือปี 2563-2564 ในอัตรา 0.30 – 0.70% ขึ้นอยู่กับมูลค่าทรัพย์สิน และตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป จะเก็บภาษีสูงสุด 1.20% แต่ในกรณีที่ที่ดินนั้นไม่ได้ใช้ประโยชน์เลยติดต่อกัน 3 ปี รัฐจะเก็บภาษีเพิ่ม 0.30% ทุก ๆ 3 ปี แต่รวมแล้วจะไม่เกิน 3% เช่น ปีนี้เรามีที่ดินเปล่าไม่ได้ทำประโยชน์อยู่ เราต้องเสียภาษี 0.30% เมื่อผ่านไป 3 ปี ถ้าเรายังไม่ได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นอีก ก็จะต้องเสียภาษีที่ดินแปลงนั้นเพิ่มเป็น 0.60%
ข้อ 9 ต้องไปเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ไหน
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นภาษีที่จัดเก็บโดยองค์กรปกครองส่วนท้องที่ ดังนั้น เราจะต้องไปเสีย ณ องค์กรปกครองส่วนท้องที่ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นตั้งอยู่ ดังนี้
1. ถ้าตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ จะต้องไปเสียภาษีที่สำนักงานเขตที่
2. ถ้าตั้งอยู่ในเขตเมืองพัทยา จะต้องไปเสียที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา
3. ถ้าตั้งอยู่ในเขตเทศบาล จะต้องไปเสียที่สำนักงานเทศบาล
4. ถ้าตั้งอยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบาล จะต้องไปเสียที่ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)
ข้อ 10 ถ้าไม่เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีโทษอย่างไร
การที่เราไม่เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหรือเสียล่าช้าจะมีโทษตามกฎหมาย ดังนี้
1. กรณีค้างชำระภาษี เราอาจถูกสำนักงานที่ดินระงับการจดทะเบียนสิทธิ์ นิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง
2. เสียเบี้ยปรับ 10% – 40% ของจำนวนภาษีค้างชำระ ขึ้นอยู่กับว่าเราไปชำระภาษีล่าช้าขนาดไหน
3. เสียเงินเพิ่มในอัตรา 1% ต่อเดือนจากภาษีที่ค้างชำระ
4. ถ้าแสดงหลักฐานเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี อาจได้รับโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ