9.1.2 ความสำคัญของการนวดแผนไทยเพื่อส่งเสริมสุขภาพ
– ประโยชน์ของการนวดแผนไทยเพื่อสุขภาพ
o ช่วยทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตสะดวกขึ้น
o ช่วยทำให้กระดูกและกล้ามเนื้อมีประสิทธิภาพดีขึ้น
o สามารถขจัดของเสียในกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่นดีขึ้น
o ทำให้รู้สึกผ่อนคลายสบายกาย สบายใจ ลดความเครียด
o ทำให้รู้สึกสดชื่น แจ่มใส กระฉับกระเฉงขึ้น
9.2 การนวดแผนไทยเพื่อส่งเสริมสุขภาพบุคคลในแต่ละวัย
9.2.1 การนวดแผนไทยเพื่อส่งเสริมสุขภาพทารกและเด็กเล็ก
– การนวดเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลทารก ซึ่งนอกจากจะขจัดความไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวแล้ว ยังช่วยให้เกิดความอบอุ่นทางด้านจิตใจอีกด้วย
– ความต้องการพื้นฐานของทารก คือ ความต้องการความอบอุ่นและต้องการอาหาร ทารกไม่สามารถจะถ่ายทอดความต้องการเป็นภาษาพูดได้ จึงได้แต่ร้องไห้เมื่อมีความต้องการ ควรต้องสังเกตดูสาเหตุที่ทารกร้อง
– วิธีการนวดเพื่อส่งเสริมสุขภาพทารกและเด็กเล็ก
o วิธีการนวดที่เหมาะสม ได้แก่ การลูบไล้ บีบ เคล้น คลึง กดนวด เวลาที่เหมาะในการนวด คือ หลังจากการดื่มนมสักครึ่งชั่วโมง
o ขั้นตอนการนวด เนื่องจากผิวของทารกยังบอบบางและอ่อนนุ่ม ฉะนั้นก่อนนวดควรใช้น้ำมันหรือครีมทาผิว ทาลูบไล้ให้ทั่ว ยกเว้นใบหน้า แล้วจึงเริ่มต้นการนวด โดยเริ่มต้นตั้งแต่ใบหน้า หน้าอก แขน มือ ท้องและขาตามลำดับ
o ประโยชน์ของการนวด คือ ช่วยบรรเทาความไม่สบายทางร่างกาย ช่วยให้ทารกมีกล้ามเนื้อแข็งแรงและเคลื่อนไหวได้ดี กระตุ้นพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจ สร้างสายสัมพันธ์ที่อบอุ่นแน่นแฟ้นระหว่าง พ่อ แม่ ลูก
o ข้อควรระวัง คือ อย่าลงน้ำหนักนวดที่หนักหรือบีบแรงเกินไป ขณะที่นวดในท่านอนคว่ำต้องคอยประคองหรือจับทารกไว้ ไม่ควรใช้น้ำมันหรือครีมทาหน้าทารก ก่อนนวดควรล้างมือให้สะอาด ผู้ที่เป็นโรคผิวหนังไม่ควรนวดเด็ก อย่าอาบน้ำเด็กทันทีหลังจากนวดเสร็จใหม่ ๆ
9.2.2 การนวดแผนไทยเพื่อส่งเสริมสุขภาพเด็กโตและผู้ใหญ่
– อาการที่พบบ่อยในเด็กโตและผู้ใหญ่ คือ อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหรืออาการอ่อนล้าหลังจากทำงาน ออกกำลังกายหรือการเล่น และอาการปวดศีรษะ เนื่องจากความเครียดจากการทำงานหรือการเรียนหนังสือ
– วิธีการนวดสำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่ มีหลายวิธี ได้แก่ การกด บีบ คลึง ถู กลิ้ง ตบ ทุบหรือสับ หมุน บิด ยืดดัด ลั่นข้อต่อ
– ประโยชน์ของการนวด คือ ทำให้เกิดการยืดคลายหรือลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ ทำให้หลอดเลือดขยายตัวและการไหลเวียนดีขึ้น กระตุ้นระบบประสาทและความรู้สึกตอบสนอง ทำให้ข้อต่อกระดูกชุ่มชื้นและพังผืดรอบข้อต่ออ่อนคลาย ทำให้อวัยวะอื่น ๆ ทำงานดีขึ้น ผ่อนคลายความเครียดและรู้สึกอบอุ่น
– ข้อควรระวังในการนวด ควรใช้น้ำหนักนวดให้เหมาะสมในแต่ละเพศ วัย และตามแต่โครงสร้างร่างกายโดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรก ไม่ทำการนวดจนเกิดอันตรายต่อผู้ถูกนวด
9.2.3 การนวดแผนไทยเพื่อส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ
– การนวดผู้สูงอายุ เป็นการช่วยเสริมสร้างสุขภาพให้แก่ผู้สูงอายุ ทำให้ร่างกายแข็งแรง ความรู้สึกสนองตอบต่อสิ่งแวดล้อมดี อารมณ์จิตใจสดชื่นเบิกบาน
– อาการปวดที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ คือ การปวดข้อต่อ การปวดที่มีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อย เมื่อยล้า มักจะบอกตำแหน่งปวดไม่ค่อยชัดเจน การปวดเมื่อยที่มีสาเหตุจากเส้นเอ็น การปวดเมื่อยที่มีสาเหตุจากเส้นประสาทถูกกดทับ การปวดเมื่อยจากเส้นเลือดขอดบริเวณขา
– วิธีการนวดสำหรับผู้สูงอายุ ได้แก่ การกด บีบ ลูบไล้ ทุบ เคาะ เบา ๆ
– ประโยชน์ของการนวด คือ ทำให้เลือดไหลเวียนดีและช่วยกระตุ้นประสาท ลดความหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ลดอาการปวดเมื่อยล้า ทำให้การเคลื่อนไหวดีขึ้น ผิวหนังแข็งแรงและอ่อนนุ่ม มีน้ำมีนวล ลดความเครียดให้ผ่อนคลายสบายใจ ช่วยไม่ให้มีอาการซึมเศร้าหรืออาการเปล่าเปลี่ยว
– ข้อควรระวัง ผู้สูงอายุที่มีโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ถ้าอยู่ในภาวะอันตรายไม่ควรนวด ผู้สูงอายุที่มีอาการข้ออักเสบบวมแดงไม่ควรนวด ผู้สูงอายุที่มีโรคติดต่อหรือโรคผิวหนังร้ายแรง ไม่ควรทำการนวด ผู้สูงอายุที่กระดูกพรุนหรือกระดูกบางควรนวดเบา ๆ ก่อนนวดควรเช็คถามอาการที่มานวด หลีกเลี่ยงท่านวดเป็นการนวดลึกและหนัก ควรนวดหลังรับประทานอาหารสัก 2-3 ชั่วโมง
9.3 การนวดแผนไทยเพื่อส่งเสริมสุขภาพหญิงมีครรภ์และผู้ป่วย
9.3.1 การนวดแผนไทยเพื่อส่งเสริมสุขภาพหญิงมีครรภ์
– การนวดให้หญิงมีครรภ์ เป็นการช่วยส่งเสริมสุขภาพทางร่างกายและจิตใจของมารดา ช่วยบรรเทาความรู้สึกไม่สบายใจระหว่างการตั้งครรภ์
– อาการผิดปกติที่พบบ่อยในหญิงมีครรภ์ คือ อาการคลื่นไส้ อาเจียน หน้ามืด ปวดศีรษะ ท้องผูก จุกเสียดแน่น อาการเท้าบวม ปวดเอว ปวดหลัง อารมณ์ตึงเครียดจากการที่ต้องระมัดระวังตลอดเวลา
– วิธีการนวดสำหรับหญิงมีครรภ์ ได้แก่ การบีบ กด คลึง ลูบไล้
– ประโยชน์ของการนวด คือ ช่วยผ่อนคลายความเครียด ช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว ช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น บรรเทาอาการปวดเมื่อย มีความมั่นใจในขณะคลอด
– ข้อควรระวัง การจัดท่าทางในการนวดก่อนคลอด ต้องให้นวดในท่าตะแคงหรือนั่ง น้ำหนักการกดนวด พิจารณาดูให้เหมาะสม การกดนวดต้องมีจังหวะช้า ๆ ระมัดระวัง การนวดหลังคลอด ระมัดระวังการเคลื่อนไหวของมารดา
9.3.2 การนวดแผนไทยเพื่อส่งเสริมผู้ป่วย
– การนวดสำหรับผู้ป่วย ช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพ ทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ดีขึ้น ช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลังกายกำลังใจที่จะต่อสู้หรือยู่ร่วมกับโรคต่าง ๆ ได้
– อาการผิดปกติที่พบบ่อยในผู้ป่วย คือ ปวดที่มีสาเหตุจากกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนล้า ไม่มีกำลัง มีความเครียดและมีความวิตกกังวลกับโรคที่เป็นอยู่
– วิธีการนวดสำหรับผู้ป่วย ได้แก่ การบีบ คลึง
– ประโยชน์ของการนวด คือ ทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้นและช่วยกระตุ้นระบบประสาท ลดความหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ลดอาการปวดเมื่อยอ่อนล้าของกล้ามเนื้อ ทำให้การเคลื่อนไหวดีขึ้น ลดความเครียด
– ข้อควรระวัง ผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ในภาวะอันตรายห้ามนวด ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกหรืออุบัติเหตุทำให้กระดูกแตกหัก ควรนวดสัมผัสเบา ๆ ผู้ป่วยที่มีบาดแผลหรืออักเสบของอวัยวะ ไม่ควรนวด ผู้ป่วยที่มีโรคติดต่อหรือโรคผิวหนังร้ายแรง ไม่ควรนวด