ไม่กีดขวางทางลมบ้านข้างเคียง
ปัญหานี้พบได้บ่อยในการรีโนเวทบ้านทาวน์เฮ้าส์ ทาวน์โฮมและบ้านแฝด ด้วยลักษณะของบ้านประเภทดังกล่าวนิยมออกแบบให้มีพื้นที่ว่างหน้าบ้านประมาณ 5-6 เมตร เป็นพื้นที่โรงจอดรถ ซึ่งหากต่อเติมแค่หลังคาโรงจอดรถก็คงไม่เป็นปัญหากันครับ แต่ปัจจุบันเกิดค่านิยมใหม่ ทำการต่อเติมสร้างอาคารแนวสูงเท่ากับตัวบ้านมาถึงขอบรั้วบ้าน ส่งผลกระทบให้เกิดการบดบังวิสัยทัศน์ บดบังลมและแสงแดดของอาคารข้างเคียง แน่นอนว่าการปรับปรุงครั้งนี้จะทำให้บ้านที่รีโนเวทใหม่เกิดความโดดเด่น สวยงาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า บ้านข้างเคียงได้รับผลกระทบไปโดยทันที การปรับปรุงที่ดีจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาผลกระทบอย่างรอบคอบ คิดถึงใจเขา ใจเรา อะไรที่ดูโดดเด่นมากเกินไปก็อาจจะไม่ดีได้เช่นกันครับ
วัสดุเบาได้ ย่อมเบาใจ
การรับน้ำหนักของโครงสร้างอาคารเป็นส่วนสำคัญในการรีโนเวท หากต้องเพิ่มปริมาณก้อนอิฐก้อนปูนจำนวนมาก อาจส่งผลกระทบให้โครงสร้างเดิมต้องแบกรับน้ำหนักมากเกินไป การปรับปรุงรีโนเวทจึงควรเลือกวัสดุที่มีน้ำหนักเบา เพื่อป้องกันการแบกรับน้ำหนักที่มากเกินโครงสร้างเดิมจะรองรับได้ ตัวอย่างเช่น ผนังภายในบ้าน เหมาะกับเลือกใช้ผนังเบาแทนการใช้ผนังก่ออิฐฉาบปูน, การตกแต่งผนังให้เลือกตกแต่งด้วยวัสดุปิดผิวทดแทน เช่น กรณีต้องการผนังลายหินอาจเลือกใช้แผ่นลามิเนตตกแต่งผิวลายหินแทนการใช้แผ่นหินจริง ปัจจุบันมีลวดลายและผิวสัมผัสที่เสมือนวัสดุจริงให้เลือกเยอะมากครับ มองผ่าน ๆ แทบจะแยกไม่ออกเลย
กรณีมีการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้าง จะเหมาะกับนำโครงสร้างเหล็กมาใช้ร่วมในงานรีโนเวท หรือหากต้องการลงเสาเข็มในพื้นที่แคบ ปัจจุบันมีเข็มเหล็กช่วยอำนวยความสะดวกไปได้มากครับ โดยรวมแล้วนวัตกรรมวัสดุก่อสร้างในยุคนี้ ผลิตให้มีน้ำหนักเบาค่อนข้างมาก ก่อนรีโนเวทจึงลองค้นหาวัสดุใหม่ ๆ ที่จะช่วยลดภาระให้กับโครงสร้างได้จะยิ่งดี
แต่งภายในบ้านใหม่ อาจไม่ต้องทุบ
เมื่อคิดถึงการรีโนเวท เรามักคิดถึงหน้าตาบ้านที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่ความจริงแล้วการรีโนเวทคือการปรับปรุงพื้นที่อยู่อาศัยเดิมให้เกิดความสวยงาม ใช้งานสะดวกสบายยิ่งขึ้น ซึ่งการตกแต่งเฉพาะภายในบ้านใหม่ อาจทำได้ง่ายและตอบโจทย์กว่าการรีโนเวทก็เป็นไปได้ครับ กรณีมีการทุบรื้อเจ้าของบ้านต้องพึ่งพาสถาปนิก วิศวกร และผู้รับเหมา เปลี่ยนมาเป็นพึ่งพาอินทีเรียดีไซน์เนอร์ ให้อินทีเรียทำการเนรมิตพื้นที่กล่องสี่เหลี่ยมเดิม ๆ ให้กลายเป็นพื้นที่ในฝันที่ตอบโจทย์การใช้งานในยุคปัจจุบัน ซึ่งอาจจะช่วยให้ประหยัดงบในการปรับปรุงบ้าน และสร้างความสวยงาม น่าอยู่ ได้ดีกว่าทุบรื้อบ้านใหม่อีกครับ
หรือสิ่งที่ง่ายที่สุดที่สามารถทำได้ทันที คือการจัดบ้านให้เป็นระเบียบ ทาสีใหม่ แก้ไขจุดที่ชำรุดเป็นจุด ๆ ไป เมื่อแก้ไขจุดเก่า ๆ ครบแล้ว อาจจะทำให้เปลี่ยนใจไม่อยากทุบรื้อบ้านก็เป็นไปได้ครับ
หน้ากากใหม่ ในบ้านหลังเดิม
อีกหนึ่งแนวคิดที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในปีนี้ คือการเปลี่ยนโฉมหน้าตาบ้านใหม่โดยไม่ต้องทุบรื้อบ้านเก่าออก เป็นวิธีการครอบบ้านหลังเดิมเพื่อให้เกิดหน้าตาใหม่ แนวคิดการเปลี่ยนหน้าตาอาคารด้วยเปลือกภายนอกหรือที่เรียกกันว่า “facade” ได้รับความนิยมใช้ร่วมกับอาคารพาณิชย์มานานแล้วครับ แต่ปีนี้เราได้เห็นการนำมาใช้ร่วมกับบ้านพักอาศัยมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ผนังรับน้ำหนัก อันตรายห้ามทุบ
หลาย ๆ โครงการบ้านในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะโครงการจากแบรนด์ใหญ่นิยมสร้างบ้านด้วยผนัง Precast เป็นผนังรับน้ำหนักแทนเสาบ้าน บ้านลักษณะนี้จะไม่มีเหลี่ยมมุมเสาภายในห้อง ช่วยให้การก่อสร้างบ้านที่มีแบบเดียวกันหลาย ๆ หลัง สร้างได้อย่างรวดเร็ว ประหยัดต้นทุนก่อสร้างไปได้มาก ซึ่งหากรวบรวมคุณสมบัติของบ้านผนัง Precast นับเป็นบ้านที่ดีมีมาตรฐานในงานก่อสร้างสูงเลยครับ
แต่ข้อจำกัดของผนัง Precast เนื่องด้วยผนังเองมีหน้าที่รับน้ำหนัก จึงเปรียบเสมือนเสาคานของบ้าน กรณีมีการทุบรื้อผนังจึงมีผลกับโครงสร้างบ้านโดยตรง ผนัง Precast จึงไม่สามารถทุบรื้อได้ มิเช่นนั้นอาจก่อให้เกิดความเสียหายถึงชีวิตได้เลยครับ ก่อนปรับปรุงรีโนเวทบ้านจึงควรปรึกษาวิศวกรที่มีความรู้ด้านโครงสร้างบ้านก่อนเสมอครับ
ทำให้ถูกกฎหมาย พรบ.ควบคุมอาคาร
บ่อยครั้งที่ผู้เขียนพบว่า การรีโนเวทบ้านมักมาพร้อมกับการละเมิดข้อกฎหมาย โดยจุดที่ทำผิด พรบ.ควบคุมอาคาร มากที่สุดคือระยะร่น กรณีเจ้าของบ้านต้องการต่อเติม หากผนังด้านนั้น ๆ มีช่องแสง ช่องเปิด จำเป็นต้องเว้นระยะร่นรอบบ้านอย่างน้อยด้านละ 2 เมตร หรือเว้นอย่างน้อย 50 เซนติเมตร ในกรณีผนังปิดทึบไม่มีช่องแสงใด ๆ และต้องนำแบบบ้านส่วนต่อเติมขออนุญาตกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเช่นเดียวกับการสร้างบ้านใหม่ครับ มิเช่นนั้น หากต่อเติมผิดกฎหมายและบ้านข้างเคียงร้องเรียน สิ่งที่ลงทุนต่อเติมไปแล้วอาจถูกรื้อถอนได้โดยทันทีครับ