การที่เราไม่ทำเรื่องรื้อถอนแล้วไปขออนุญาตสร้างบ้านใหม่ บ้านหลังใหม่ของเราก็จะถูกสวมทะเบียนตามมูลค่าเดิม ไหนจะทั้งปัญหา ถ้ามีการโอนต่อ ประวัติบ้านก็ไม่ตรง ขนาด อายุการใช้งาน และถ้ายิ่งไม่ขออนุญาต เทศบาล/เขต มาตรวจ ให้เหตุผลว่าไง
เอกสารที่ต้องใช้ในการขออนุญาตเพื่อทำการรื้อถอนอาคาร คือ
แบบแปลนของอาคารที่จะรื้อ ประกอบด้วยรายละเอียดแบบแปลนทุกชั้น รูปด้านข้างทั้งสองด้าน ภาพตัดขวาง และรายละเอียดวัสดุที่ใช้สร้างอาคาร วิธีการรื้อถอน ที่ทำมาไม่เกิน 45 วัน
แบบคำร้อง ข.1
บัตรประชาชน
ทะเบียนบ้านแสดงความเป็นเจ้าของที่ดิน
หนังสือยินยอม ในกรณีไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน
สำเนาโฉนด
ขั้นตอนการดำเนินการขออนุญาตรื้อถอนอาคาร
สามารถยื่นเรื่องได้ ณ. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่จะขออนุญาตรื้อถอนอาคาร
ยื่นขออนุญาตรื้อถอนอาคารพร้อมเอกสาร
เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจพิจารณาเอกสารประกอบการขออนุญาต
เจ้าพนักงานท้องถิ่นดำเนินการตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง ตรวจสอบสถานที่ก่อสร้างจัดทำผังบริเวณแผนที่สังเขป ตรวจสอบกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ประกาศกระทรวงคมนาคมเรื่องเขตปลอดภัยในการเดินอากาศเขตปลอดภัยทางทหารฯและพรบ.จัดสรรที่ดิน
เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจพิจารณาแบบแปลนและพิจารณาออกใบอนุญาต (อ.1) และแจ้งให้ผู้ขอมารับใบอนุญาตรื้อถอนอาคาร (น.1)
บทลงโทษหากไม่ทำการขออนุญาตรื้อถอนบ้าน
ส่วนบทลงโทษหากไม่ทำการขออนุญาตรื้อถอนบ้าน ก็คือ ผู้ที่ทำการรื้อถอนอาคารโดยไม่รับอนุญาต จะมีโทษปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือ จำคุกไม่เกิน 3 เดือน และในวรรคสองของข้อกำหนดยังระบุอีกว่า ให้ต้องโทษปรับเป็นรายวันอีก ไม่เกินวันละ 10,000 บาท จนกว่าจะทำการขออนุญาตอย่างถูกต้อง ดังนั้นอย่าละเลยกันนะครับ ก่อนที่เรื่องมันจะยุ่งยากไปกว่านี้
เทคนิคการทุบตึกและรื้อถอนอาคารอย่างปลอดภัย
สิ่งที่เป็นกระบวนการพื้นฐานที่พึงกระทำในการป้องกันผลกระทบขณะการทำงานรื้อถอนควรดำเนินการดังนี้
1. สร้างรั้วเป็นเขตการรื้อถอนหรือทุบตึกโดยรอบ และจัดทำทางเข้าออกของเครื่องจักรและรถบรรทุก
2. ติดป้ายโครงการและป้ายเตือนโดยรอบพื้นที่ เพื่อแสดงให้ชุมชนรอบข้างและบุคคลภายนอกทราบถึงเขตแนวการรื้อถอนให้ชัดเจน เพื่อให้ระมัดระวังเมื่อมีการสัญจรบริเวณใกล้แนวเขตรื้อถอน
3. จัดให้มีการคลุมอาคารในกรณีที่พื้นที่จำกัดและเพื่อป้องกันไม่ให้เศษวัสดุจากการรื้อถอนฟุ้งกระจายหรือตกกระเด็นออกไปกระทบพื้นที่ข้างเคียงให้มากที่สุด
4. มีการจัดการความปลอดภัยอย่างเป็นระบบ ตามมาตรฐานสากล เช่นการให้คนงานที่ทำงานรื้อถอนสวมอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment) ให้เหมาะสมกับลักษณะงาน การวางมาตรการป้องกันอันตรายโดยทำการวิเคราะห์อันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการทำงาน (Job Safety Analysis) การตรวจสอบประสิทธิภาพของเครื่องจักร อุปกรณ์เครื่องมือไฟฟ้า หรือเครื่องจักรที่ใช้ในการยก การตัก การสกัด ทุบตึก รื้อถอนเช่น เครน รถแบคโฮ เป็นต้น
5. มีการลำดับงานรื้อถอนโดยละเอียด และกำหนดผู้ปฏิบัติงานและผู้ควบคุมงานแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจน เพื่อมิให้เกิดความสับสนขณะปฏิบัติงานรื้อถอนอาคาร
6. มีการวางแผนการจัดการในเศษวัสดุที่เกิดจากการรื้อถอน อย่างเหมาะสมและถูกต้องตามกฎหมาย เศษวัสดุที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือสิ่งแวดล้อมก็ต้องดำเนินการกำจัดอย่างถูกต้อง เศษวัสดุฉนวนใยแก้ว เศษน้ำมันหล่อลื่น จะต้องส่งไปกำจัดโดยบริษัทที่รับกำจัดอย่างถูกกฎหมายเป็นต้น
7. ตรวจสอบและป้องกันความเสียหาย ของเส้นทางการลำเลียงเศษวัสดุที่จะนำไปทิ้งจะต้องไม่สร้างความเดือดร้อนและเสียหายให้กับชุมชนหรือเส้นทาง เช่นการล้างล้อรถก่อนออกนอกเขตรื้อถอน การคลุมผ้าใบรถเศษคอนกรีต หรือดินที่จะนำออกนอกเขตรื้อถอนเสมอ เป็นต้น
8. เลือกเวลาในการลำเลียงวัสดุออกนอกพื้นที่ ควรจะเลี่ยงเวลาที่มีรถสัญจรไปมามากๆ หรือช่วงเวลาเร่งด่วน เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบ การจราจรหรืออุบัติเหตุบนท้องถนน