แต่การติดตั้งประตู UPVC จะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ เพราะการแก้ไขงานที่ผิดพลาดจะยากกว่าอลูมิเนียม ส่วนการดูแลรักษา หากมีรอยขูดขีด อลูมิเนียมจะเก็บงานง่ายกว่า UPVC อีกทั้งกรอบบานของ UPVC จะมีขนาดใหญ่กว่ากรอบบานอลูมิเนียม ซึ่งถ้าต้องการให้หน้าต่างมีมุมมองที่กว้างมากขึ้น กรอบบาน UPVC อาจจะกินพื้นที่ไปบ้าง
ราคา : บานติดตาย 2,000 – 5,000 บาท ไปจนถึงหลักหมื่น (ราคาขึ้นอยู่กับแบรนด์และรูปแบบ)
เราไปดูประเภทของบานและกรอบบานประตู-หน้าต่างกันไปแล้ว เรามาดูวัสดุด้านในอย่างกระจก ที่เป็นวัสดุที่นิยมใช้งานร่วมกันกับประตูหน้าต่างของบ้านและอาคารในปัจจุบันนะคะ ซึ่งก็มีให้เลือกใช้งานค่อนข้างหลากหลาย กระจกเป็นวัสดุโปร่งใสที่สามารถเปิดให้แสงแดดจากธรรมชาติส่องผ่านเข้าไปสร้างความสว่างให้กับพื้นภายในได้อย่างเต็มที่ นอกจากจะใช้ในงานประตูหน้าต่างรอบตัวบ้าน ยังสามารถนำมาติดตั้งเป็นประตูเชื่อมต่อระหว่างห้องภายในได้ด้วยเช่นกัน ช่วยกระจายแสงสว่างภายในบ้านได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันกระจกก็เป็นวัสดุที่ต้องการการดูแลรักษาและต้องระมัดระวังในการใช้งานเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตามชนิดของกระจกก็เป็นตัวแปรสำคัญที่หากใช้ถูกประเภท ถูกลักษณะงานแล้ว ก็จะทำให้เราดูแลได้ง่ายขึ้นค่ะ
กระจกใส (Clear Float Glass) คือ กระจกโปร่งแสงและไม่มีสี สามารถมองผ่านได้อย่างชัดเจน สามารถมองเห็นจากภายนอกเข้ามาภายในได้ มีค่าการตัดแสงประมาณ 8% สำหรับกระจกใสหนา 12 มิลลิเมตร และตัดแสงได้มากขึ้นตามความหนาของกระจก โดยกระจกชนิดนี้จะดูดกลืนความร้อนได้น้อยมากจึงทำให้ผิวกระจกไม่ร้อนเมื่อต้องอยู่กลางแสงแดดหรือในอุณหภูมิสูงระหว่างวัน โดยปกติแล้วกระจกใสจะสามารถแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ แบบคุณภาพทั่วไปและแบบคุณภาพพิเศษ มีให้เลือกตั้งแต่ความหนา 2-19 ม.ม. ความกว้างประมาณ 3 เมตร และความยาวถึง 12 เมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความหนาและขนาด ส่วนความหนาที่นิยมกับงานทั่วไปจะอยู่ที่ 5-6 ม.ม.
คุณสมบัติเด่นของกระจกใส คือ สามารถมองเห็นได้ชัดเจนจากภายนอก จึงเหมาะกับการใช้งานประเภทแสดงสินค้า แต่ก็สามารถนำมาใช้กับบ้านพักอาศัยได้เช่นกัน ใช้งานได้ทั้งภายใน และภายนอกกับอาคารทุกประเภท แต่เนื่องจากกระจกใสมีค่าการสะท้อนแสงน้อย จึงเหมาะสำหรับห้องที่ต้องการมองทัศนียภาพภายนอกที่ชัดเจน ความใสและโปร่งแสงของกระจกอาจทำให้การใช้งานจะไม่ค่อยเป็นส่วนตัวสักเท่าไหร่ แต่ก็สามารถติดตั้งม่านหรือติดฟิล์มเพื่อความเป็นส่วนตัวเพิ่มเติมได้
สำหรับกระจกตามที่มีขายจะมีทั้งสินค้าราคาเกรดสูง-ตำ่ ราคารเฉลี่ยของแผ่นกระจก จะอยู่ที่ราคาเริ่มต้นประมาณ 16 – 20 บาท/ตารางฟุต โดยราคาจะขึ้นอยู่กับขนาดความหนาเเละความยาว
กระจกลามิเนต จัดเป็นกระจกนิรภัยชนิดหนึ่ง ประกอบไปด้วยกระจกตั้งแต่ 2 แผ่นขึ้นไปเช่นกัน และชั้นกลางเป็นฟิล์มนิรภัย มาประกบหรือติดด้วย PVB (Poly Vinyl Butyral) ทำให้กระจกจะติดกับ PVB ไม่ร่วงหล่นจากกรอบ โดยข้อดีของกระจกลามิเนต คือ ผู้ออกแบบสามารถเลือกชนิดของกระจกทั้ง 2 ฝั่งที่จะนำมาประกบกันได้ เพื่อให้ได้คุณสมบัติครบตามต้องการ เช่น ฝั่งหนึ่งเลือกเป็นกระจกกึ่งนิรภัย (Heat Strengthened Glass) เพื่อให้มีความแข็งแรง ส่วนอีกด้านหนึ่งเลือกกระจกตัดแสงเพื่อให้ช่วยดูดซับรังสีความร้อน
คุณสมบัติที่ดีของกระจกลามิเนต คือ เมื่อกระจกแตกชิ้นส่วนจะไม่หลุดออกจากฟิล์ม ทำให้มีความปลอดภัย และฟิล์มตรงกลางยังสามารถกรองแสงและกันรังสียูวีได้ถึง 95% ช่วยป้องกันเสียงรบกวนภายนอก และเก็บเสียงได้ดีกว่ากระจกธรรมดา ทนต่อแรงดันลมในที่สูง ทนต่อแรงอัดกระแทกและช่วยป้องกันการบุกรุกจากการโจรกรรมได้
กระจกลามิเนตสามารถเคลือบสีได้ตามความต้องการ โดยกระจกลามิเนตมักจะนำมาใช้งานภายในส่วนมากจะทำเป็นผนังห้อง หน้าต่างหรือบานประตู ใช้เป็นกระจกด้านนอกของอาคาร โดยเฉพาะกระจกที่ต้องการป้องกันการบุกรุก หรือต้องการลดเสียงรบกวน เช่น หน้าต่างช่องเปิดแบบต่างๆ หรือใช้ทำระเบียงราวกันตก , หลังคา Skylight , กันสาด และ Facade เป็นต้น
แต่ในการใช้งานเมื่อเทียบความหนาในขนาดเดียวกันกับกระจกธรรมดา กระจกนิรภัยลามิเนตจะรับแรงได้น้อยกว่ากระจกธรรมดา ส่วนฟิล์ม PVB มีคุณสมบัติดูดความชื้น กรณีถ้าใช้กระจกลามิเนตในบริเวณที่มีความชื้นสูงจะทำให้การยึดเกาะระหว่างกระจกและฟิล์มไม่ดีอาจเกิดการแยกตัวออกจากกันได้ ส่วนราคากระจกโดยประมาณจะเริ่มตั้งแต่ 1,200-1,500 บาท/ตร.ม. ขึ้นอยู่กับความหนาของกระจกและจำนวนที่สั่งซื้อนะคะ
กระจกเทมเปอร์ (Tempered Glass)
กระจกเทมเปอร์ หรือที่เราเรียกกันว่ากระจกนิรภัย กระจกชนิดนี้จะผ่านวิธีการอบด้วยความร้อนสูง การแตกของกระจกเทมเปอร์ จะแตกกระจายออกเป็นเม็ดเล็กๆคล้ายเม็ดข้าวโพด และมีความคมน้อย จึงค่อนข้างปลอดภัยหากเกิดอุบัติเหตุ สำหรับคุณสมบัติและประโยชน์การใช้งานจะคล้ายกับกระจกลามิเนต แตกต่างกันที่ไม่มีฟิล์มกั้นตรงกลาง และไม่สามารถกรองแสงได้ แต่สามารถรับแรงที่มากระทบกระจกซึ่งเกิดจากลม แรงดันจากคน หรือแรงดันของน้ำในกรณีที่เป็นสระน้ำ สามารถทนต่อแรงกระทบได้มากกว่ากระจกธรรมดา ที่มีความหนาเดียวกัน 3-5 เท่า สามารถทนทานต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิแบบฉับพลันได้
โดยทั่วไปเรามักเห็นการใช้กระจกเทมเปอร์ เป็นประตูบานเปลือย ฉากกั้นอาบน้ำ ผนังกั้นภายใน ผนังกระจกทั้งสองหน้า และภายในตัวอาคารได้ หรือใช้ทำเป็นหน้าต่าง ผนังอาคาร ผนังกระจกของอาคารในบริเวณที่เผชิญกับความร้อนสูงกว่าปกติ และใช้กับงานเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เช่น ชั้นวางของ ชั้นโชว์สินค้า มีความหนาให้เลือกใช้งานตั้งแต่ 4, 5, 6, 8, 10, 12, 15, 19 มิลลิเมตร ขึ้นอยู่กับประเภทในการใช้งาน ส่วนราคากระจกโดยประมาณจะมีตั้งแต่ 1,000 บาท/ตร.ม. (หนา 6 mm.) ถึง 2,000 บาท/ตร.ม. (หนา 10 mm.) ขึ้นอยู่กับความหนาของกระจก คุณภาพ และจำนวนที่สั่งซื้อ
กระจกฉนวน (Insulated Glass Unit – IGU)
กระจกฉนวนความร้อน (Insulating Glass Units) เป็นกระจกตั้งแต่ 2 แผ่นขึ้นไปมาประกบกัน มีช่องว่างระหว่างกลาง (Air gap) โดยมี Aluminium Spacer ซึ่งบรรจุสารดูดความชื้นแล้วใส่ฉนวน เช่น อากาศแห้ง (Dried Air) หรือ ก๊าซเฉื่อย ไว้ภายในเพื่อให้มีคุณสมบัติในการเก็บรักษาอุณภูมิภายในได้ดีมาก สามารถสะท้อนความร้อนได้ประมาณ 95%-98% และไม่ทำให้เกิดฝ้าหรือหยดน้ำ แม้ว่าอุณหภูมิภายในกับภายนอกแตกต่างกันมาก
การนำไปใช้งานของกระจกประเภทนี้จะมุ่งเน้นการใช้งานไปในแนวทางการประหยัดพลังงานภายในอาคารและการใช้งานสำหรับอาคารเฉพาะทางเนื่องจากมีคุณสมบัติ คือ การยอมให้แสงผ่านเข้ามาภายในอาคารมากแต่ความร้อนที่จะผ่านกระจกเข้ามาน้อยจึงมักนิยมใช้สำหรับอาคารที่ต้องการควบคุมอุณภูมิให้คงที่ตลอดเวลา เช่น พิพิธภัณฑ์อาคารเก็บอาหาร ห้องเก็บไวน์ และก็มีพบได้ในโครงการพักอาศัยที่เลือกใช้กระจกฉนวน (Insulated Glass Unit- IGU) ตัดแสงมาในส่วนของหน้าต่าง ป้องกันการถ่ายเทความร้อนระหว่างภายในกับภายนอกอาคาร หรือใช้ทำเป็นราวกันตกบริเวณระเบียงช่วยลดความร้อนที่ส่องเข้ามาพื้นที่ระเบียงได้ ในส่วนของราคากระจกโดยประมาณ ตั้งแต่ 2,000-2,500 บาท/ตรม ขึ้นอยู่กับความหนาของกระจกและชนิดของช่อง Air gap ที่อยู่ตรงกลางระหว่างกระจก
กระจกเขียวตัดแสง (Green Tinted Glass)
กระจกชนิดนี้จะถูกเคลือบสารโลหะอื่นๆ โลหะแต่ละชนิดจะให้สีสะท้อนตามคุณสมบัติเฉพาะของโลหะแต่ละตัว ซึ่งสารเคลือบเหล่านี้จะให้แสงผ่านได้มาก แต่ความร้อนผ่านได้น้อย จึงทำให้กระจกเขียวตัดแสง มีคุณสมบัติเด่นคือ สามารถป้องกันรังสี UV และสะท้อนพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์ ที่ส่องมากระทบผิวกระจก ได้สูงถึง 50% เลยทีเดียว แต่ยังคงปล่อยให้แสงสว่างส่องผ่านได้ และช่วยประหยัดพลังงานโดยช่วยลดภาระการใช้เครื่องปรับอากาศภายในบ้านลง และช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้ กระจกตัดแสงที่เราเห็นนิยมใช้กันทั้งในบ้านหรือคอนโดส่วนมากจะเป็นสีเขียวและสีฟ้า ซึ่งสีแต่ละแบบก็จะให้คุณสมบัติการการใช้งานที่แตกต่างกันไปอีก ได้แก่
กระจกเขียว – เป็นกระจกตัดแสงประเภทหนึ่ง ที่ให้แสงสว่างส่องผ่านได้มากถึง 75% แต่กลับให้ความร้อนผ่านได้แค่ 49% เท่านั้น จึงช่วยให้ได้ทั้งความเย็น และความสว่างปลอดโปร่งไปพร้อมกัน เหมาะกับที่พักอาศัยโดยทั่วไป
กระจกสีฟ้า – เป็นกระจกตัดแสงที่ดีขึ้นมาอีกระดับ โดยความร้อนจะผ่านได้เพียง 43% และเปิดรับแสงธรรมชาติอย่างพอเหมาะที่ 58% ทั้งนี้ ราคาจะสูงกว่ากระจกสีเขียว
กระจกสีชา – ความร้อนผ่านได้น้อยสุดคือ 34% แต่ยอมให้แสงสว่างผ่านได้น้อยแค่ 22% จึงอาจสร้างบรรยากาศที่มืดทึบให้บ้านได้ แต่ถ้าใครต้องการแต่งบ้านโดยเน้นป้องกันความร้อนกระจกสีชาก็เป็นตัวเลือกที่ใช้ได้ดี
กระจกสีเทา – เป็นกระจกโทนสีเทาที่ตอนนี้กำลังเริ่มนิยมใช้กันมาก หรือที่เราเรียกกันว่า กระจกยูโรเกรย์ (Eurogrey) นอกจากจะได้ในเรื่องของความสวยงาม ธีมสีที่ดูเรียบหรู ตัวบ้านดูทันสมัยกว่ากระจกสีอื่นๆ กระจกชนิดนี้ก็ยังมีคุณสมบัติคล้ายกับกระจกเขียวตัดแสงแต่จะให้แสงผ่านได้น้อยกว่า ทำให้ภายในบ้านมืดทึบกว่า กระจกตัวนี้จึงเหมาะสำหรับกับพื้นที่ที่เน้นการใช้ที่ป้องกันแสงแดด
กระจก Low-E
Low-E ย่อมาจาก ‘Low Emission’ แปลว่า การถ่ายเทต่ำค่ะ หมายถึงกระจกที่มีค่าการถ่ายเทความร้อนต่ำ กระจก Low-E จะมีการเคลือบผิวกระจกด้วยสารเงิน (Silver) บางๆ โดยสารที่เคลือบกระจกจะถูกออกแบบให้สะท้อนพลังงานความร้อนออกไปแต่ยังคงให้แสงสว่างผ่านเข้ามาได้มาก โดยกระจก Low-E จะมีหลากหลายระดับให้เลือกใช้ ระดับทั่วไปคือ ฮาร์ดโค้ทโลว์อี (Hard Coat Low-E) ค่าการถ่ายเทความร้อน (Emissivity) 15% – 36% และกระจกซอฟท์โค้ทโลว์อี (Soft Coat Low-E) ค่าการถ่ายเทความร้อนต่ำประมาณ 2% – 10% ดังนั้นกระจก Low-E จะมีคุณสมบัติแผ่รังสีความร้อนต่ำกว่ากระจกธรรมดา ช่วยลดการแผ่รังสีความร้อนเข้ามาภายในอาคารได้เป็นอย่างดี ช่วยลดปริมาณเสียงภายในและเสียงเข้าตัวอาคารได้ ถ้านำกระจก Low-E ไปทำกระจกลามิเนตและกระจกฉนวน 2 ชั้น ก็จะช่วยทำให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น กระจกชนิดนี้นิยมใช้ในพื้นที่ที่ต้องการเปิดมุมมองกว้างๆ เช่น คอนโดมิเนียมที่ต้องการเห็นวิวแบบเต็มๆ หรือในห้องที่หันออกในทิศทางที่ได้รับแสงแดดเป็นพิเศษนั่นเองค่ะ
องค์ประกอบภายในกระจก Low-E
เป็นอย่างไรกันบ้างคะหวังว่าทุกคนที่กำลังจะสร้างบ้าน หรือออกแบบบ้านเองคงได้ไอเดียสามารถเลือกใช้วัสดุประตู-หน้าต่างได้ถูกใจกันนะคะ สำหรับใครที่ต้องการเจาะลึกเรื่องวัสดุต่างๆภายในบ้าน สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่
– ทำความรู้จักกับวัสดุภายในครัว
– รู้หรือไม่ ? โถสุขภัณฑ์แต่ละแบบแตกต่างกันอย่างไร
– รู้จักกระจกที่ใช้ในที่อยู่อาศัย และกระจกอัตโนมัติปรับเฉดสีตามสภาพอากาศ
– รวมปัญหาบ้านหน้าฝน รั่ว ซึม ตรงไหน ต้องรู้อะไรบ้าง?