แล้วต้องออกแบบเปลี่ยนไปอย่างไรล่ะ ผมถามกลับไปอย่างตื่นเต้น เพราะอยากรู้ว่าถ้าไม่ใช่สถาปนิกแล้ว พวกเขามีไอเดียอะไรอยู่
“อย่างแรกที่สำคัญมากซึ่งลุงนึกมาก่อนเลยก็คือ การต้องมีช่องที่เปิดให้แสงเข้าได้และมองออกไปได้ เพราะว่าตั้งแต่อยู่มา 30 ปี รู้ไหมว่าเวลาเกิดอะไรขึ้นข้างนอก เราอยู่ข้างในมองอะไรไม่เห็นเลยเพราะโดนป้ายปิดบัง บ้านข้างในก็มืดอยู่แล้วซึ่งไม่ค่อยดีนะ แต่ก็อยู่มา 30 ปีแล้ว (หัวเราะ)
“ตัวหนังสือชื่อร้านก็ไม่ต้องใหญ่มาก คนจำร้านเราได้มากกว่าแค่ป้ายแล้ว ดังนั้น ลดขนาดป้ายลงมาเหลือแค่กรอบเหนือประตูชั้น 1 แล้วไปออกแบบพวกลวดลายให้เขาจำเราได้ดีกว่า ส่วนเรื่องการคิดสีก็จริงจังขึ้น นี่ถึงขั้นไปดูศึกษาว่าสีของร้านในฮ่องกงเป็นแบบไหน สิงคโปร์เป็นแบบไหน”
ว่าแล้วป้ายหน้าอาคารร้านหลังใหม่ของลุงผมนั้นก็มีความไม่ธรรมดากว่าร้านทองของชาวบ้านทั่วไป เป็นสถาปัตยกรรมป้ายที่ดูเหมือนก้ำๆ กึ่งๆ ว่าจะเป็นป้ายหรือไม่เป็นดี โดยลักษณะคือมีแผ่นโครงป้ายที่หุ้มอาคารเหมือนเดิม แต่ตัวป้ายมีแพตเทิร์นเป็นเส้นทแยงรูปเพชร และช่องว่างที่เกิดขึ้นจากการตีเส้นทแยง ก็ปล่อยเป็นช่องเปล่าให้แสงทะลุเข้าไปในอาคารได้ ซึ่งในจังหวะการตีเส้นแพตเทิร์นนั้นยังมีการซ้อนของเลเยอร์เข้าไปอีกชั้น จนเกิดกิมมิกเล็กๆ เป็นกระจกสะท้อนรูปเพชร 8 เม็ด ดังที่ลุงผมเชื่อว่าเป็นมงคล และยังไปล้อกับเส้นทแยงที่ตีไขว้กันเป็นรูปเลข 8 คล้ายสัญลักษณ์อินฟินิตี้ ยิ่งทำให้มงคลระดับแพลตินัมเข้าไปอีก
พออธิบายลักษณะมาถึงจุดนี้ หลายท่านคงสงสัยว่าทำไมลุงของผมถึงสามารถทำป้ายออกมาได้เฉียบขนาดนี้ คำตอบก็คือเพราะแกไม่ได้ออกแบบเอง แต่ลากสถาปนิกที่สนิทกันซึ่งอาศัยอยู่ในละแวกนั้นมาช่วยออกแบบและคลี่คลายป้ายให้นั่นเอง (ปรบมือสิครับ รออะไร) ซึ่งนับเป็นนิมิตหมายอันดีของสังคมไทยที่พ่อค้าคนจีนอย่างลุงของผมเปิดใจให้สถาปนิกมาช่วยออกแบบหน้าร้านให้
“ไอ้พวกร้านอื่นๆ ที่ตอนนี้ยังทำป้ายปิดทั้งตึกแบบนี้ แสดงว่าเขาไม่ได้นอนในตึกนั้นจริงๆ หรอก เขาแค่มาเปิดร้านช่วงกลางวันแล้วกลับบ้านที่อื่นช่วงคืน ดังนั้น ถึงป้ายเขาจะเต็มและใหญ่กว่า แต่เราพอใจกับการที่ทำออกมาแบบนี้แหละ เพราะว่าคุณภาพชีวิตที่แลกกับป้ายมันไม่คุ้มกันหรอก”
เป็นประโยคคำตอบสรุปของลุงที่ผ่านการตกตะกอนสำหรับการเป็นผู้อยู่อาศัยที่ถูกทำร้ายจากป้ายโฆษณามากว่า 30 ปี ซึ่งสามารถตอบคำถามง่ายๆ ว่าการออกแบบผิวของสถาปัตยกรรมแบบไทยๆ นี้ มันมีปัจจัยอะไรที่ต้องแลกกันอยู่
ป้ายสี / ป้ายเสียง
“ผมคิดว่าเป็นเรื่องปกติของธุรกิจและบริการต่างๆ ที่ต้องการใช้พื้นที่ของตัวเองเพื่อการโฆษณาตัวเอง และเขาต้องการพื้นที่ที่มากที่สุดเพื่อการโฆษณา เมื่อแบบของอาคารไม่ได้มีความสำคัญพอในมุมมองของเจ้าของ เขาก็เลยหุ้มป้ายทับไปเลย”
ความเห็นในสถาปัตยกรรมป้ายจาก พี่วีร์ วีรพร นักออกแบบกราฟิก จาก Conscious Studio ที่ให้ความกรุณาแวะมาแจมใน อาคิเต็ก–เจอ ตอนนี้ ซึ่งพี่วีร์ยังมีความเห็นต่อไปว่า
“อาคารพาณิชย์ ชื่อมันก็บอกวัตถุประสงค์ของมันอยู่แล้วว่ามันไม่ใช่อาคารที่ต้องสะท้อนบุคลิกของตัวผู้อยู่อาศัยหรือผู้ใช้งาน (แม้ว่าอินทีเรียภายในอาจจะเป็น home office ก็ตาม) หรือวัฒนธรรมองค์กร ความเชื่อ แนวนิยม หรืออะไรก็ตามที่เจ้าของอาคารประเภทอื่นจะต้องการสื่อสารทั้งทางตรงและทางอ้อม
“ถ้าเป็นบ้านของเราเอง หรืออาคารขององค์กร สถาบันต่างๆ เขาก็ต้องหาทางสะท้อนตัวตนมาตั้งแต่การออกแบบตอนแรกอยู่แล้ว แต่ตึกแถวจะถูกสร้างมาให้หน้าตาเหมือนกันหมด เป็นกลุ่มเป็นบล็อก ทำให้ผู้ซื้อหรือผู้ที่มาเช่าก็อยากให้เสียงที่ตัวเองพูดดังที่สุดในสภาพแวดล้อมที่ตึกเหมือนกันหมด สิ่งที่ต้องการสื่อสารไม่มีอะไรอย่างอื่นนอกจากว่าทำป้ายโฆษณากิจการตรงนี้คืออะไร”
แม้ว่าการเกิดขึ้นของสถาปัตยกรรมป้ายนั้นชัดเจนอยู่แล้วว่าเกิดจากเรื่องการทำมาหากินเป็นอันดับหนึ่ง แต่การไม่คิดถึงรูปแบบตัวอาคารเดิมหรือสิ่งแวดล้อมรอบข้างที่มีอยู่แถวนั้นเลย เราอาจกำลังสร้างมลพิษทางเสียงจากป้ายโฆษณาที่ต้องใช้สายตาฟัง
“ผมเชื่อว่าถ้าย้อนเวลากลับไปยังสมัยที่ป้ายมันยังไม่เต็มผิวอาคารเท่านี้ แล้วอยู่ดีๆ มีป้ายเต็มผิวอาคารแบบนี้เกิดขึ้นมา เราก็คงจะรู้สึกเดือดร้อน รำคาญ เหมือนมีคนมาตะโกนใส่ แล้วก็ต้องหันไปมอง แต่พอทุกคนเริ่มตะโกนกันหมด ก็กลายเป็นว่าเราไม่ได้ยินอะไรชัดเจนสักอย่างถ้าไม่ได้จะตั้งใจฟังเสียงใดเสียงหนึ่ง แต่การมองเห็นมันก็อาจจะแตกต่างจากเสียงหน่อย ตรงที่มนุษย์เราจะอ่านทุกอย่างตามสัญชาตญาณ”
แล้วต่างประเทศเขาคลี่คลายหรือออกแบบอะไรแอบแฝงอย่างไรกัน
“เวลาเราเดินทางไปตามเมืองต่างๆ ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานหรือมีวัฒนธรรมเก่าแก่ เราก็จะเห็นว่าป้ายต่างๆ ของเขาจะมีอัตลักษณ์ของสถานที่แฝงอยู่ในนั้นด้วย เช่น การเลือกใช้ตัวอักษร วัสดุ เทคนิคการผลิต ซึ่งเป็นที่นิยมในพื้นที่นั้น ณ ยุคสมัยหนึ่ง หรือว่าเป็นผลงานของช่างฝีมือหรือนักออกแบบกลุ่มเดียวกัน เรียกว่าป้ายเป็นตัวแทนหรือจดหมายเหตุอย่างหนึ่งของยุคสมัย
“ถ้ามองในมุมของการจัดระเบียบแบบแผน ก็อยากให้บ้านเรามีการควบคุมบ้าง อย่างบางพื้นที่ เช่น เขตอนุรักษ์ เมืองเก่า ผมอยากให้มีการควบคุมขนาดเป็นเปอร์เซ็นต์ของผิวหน้าอาคารไปเลย รวมทั้ง สี วัสดุ และแนะนำแบบตัวอักษรให้กับผู้ประกอบการด้วย เรียกว่าเสนอกรอบแบบหลวมๆ ส่วนในพื้นที่เมือง เพราะคิดว่าการควบคุมขนาดที่สัมพันธ์กับพื้นที่ผิวหน้าอาคารที่หน้าตาอาคารเหมือนกัน เราก็ควรใช้ป้ายขนาดเดียวกันไปเลย
“แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การกำหนดอะไรพวกนี้ก็อาจจะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของความคิดเกินไปเช่นกัน…”
แม้ว่าเสื้อเชิ้ตสีขาวปกคอจีนกับกางเกงผ้าชิโนสีกรม 5 ส่วนจะเรียบๆ ใส่ยังไงก็ดูเรียบร้อยและชัวร์ในทุกโอกาส แต่ถ้าหากเรากลับไปเปิดตู้เสื้อผ้าแล้วค้นเสื้อตัวเก่าๆ ดู ผมเชื่อว่าทุกคนจะมีเสื้อยืดกราฟิกสีสันจัดจ้านไว้ครอบครองกันไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะซื้อเมื่อสมัยก่อนหรือปัจจุบัน เช่นเดียวกันกับการออกแบบผิวของอาคาร ที่เป็นเหมือนเสื้อผ้าซึ่งก็มีเรื่องยุคสมัยและค่านิยม ณ ขณะนั้น สีสันของสถาปัตยกรรมป้ายโฆษณาที่สีสดใสก็เป็นผลพวงจากค่านิยมในอดีตเช่นกัน เพียงแต่ว่าแฟชั่นของผิวสถาปัตยกรรมอาจจะไม่ได้เปิดตัวคอลเลกชันใหม่ได้เร็วเท่า UNIQLO ดังนั้นเมื่อยุคของสถาปัตยกรรมเริ่มเปลี่ยนจริงๆ การออกแบบหน้าอาคารก็จำต้องเปลี่ยนแปลงไปให้คลี่คลายขึ้น เหมือนกับที่สิ่งที่ลุงของผมทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง
สุดท้ายนี้ ก็ขอให้ท่านใดที่กำลังจะเปิดร้านใหม่ได้เสื้อผ้าของอาคารที่ถูกใจกันนะครับ